Archive | 5:45 pm

ความหมายของขนม

12 ก.พ.

 คำว่า “ขนม” เข้าใจว่ามาจากคำสองคำที่มาผสมกันคือ “ข้าวหนม” และ “ข้าวนม” เข้าใจว่าเป็นข้าวผสมน้ำอ้อย น้ำตาล โดยอนุโลมคำว่าหนม แปลว่า หวาน
     ข้าวหนม ก็แปลว่า ข้าวหวาน เรียกสั้นๆ เร็วๆ ก็กลายเป็น ขนม ไป
     ส่วนที่ว่ามาจากข้าวนม (ข้าวเคล้านม) นั้นดูจะเป็นตำนานแขกโบราณ อย่างข้าวมธุปายาส (ที่นางสุชาดาทำถวายพระพุทธเจ้าเมื่อตอนตรัสรู้ก็ว่าเป็นข้าวหุงกับนม)
     คำว่า ขนม มีใช้มาหลายร้อยปียากจะสันนิฐานแน่นอนได้ เช่นเดียวกับไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า “ขนมไทย” เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยใดเป็นครั้งแรก แต่ตามประวัติศาสตร์ไทยมีหลักฐานตอนหนึ่งว่า มีการจารึกชื่อขนมในแท่งศิลาจารึก เป็นการจารึกแบบลายแทงสมัยโบราณ ขนมที่ปรากฏคือ “ไข่กบ นกปล่อย บัวลอย อ้ายตื้อ” ถามผู้ใหญ่ดูถึงได้รู้ว่า ไข่กบ หมายถึง เม็ดแมงลัก นกปล่อย หมายถึง ลอดช่อง บัวลอย หมายถึง ข้าวตอก อ้ายตื้อ หมายถึง ข้าวเหนียว ขนมทั้งสี่ใช้น้ำกระสายอย่างเดียวกันคือ “น้ำกะทิ” โดยใช้ถ้วยใส่ขนม ซึ่งเราเรียกการเลี้ยงขนม 4 อย่างนี้ว่า “ประเพณี 4 ถ้วย”
     ขนมประเภทที่ใช้ข้าว (แป้ง) น้ำตาล มะพร้าว คงจะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาตอนต้น เพราะมีการติดต่อกับต่างประเทศ กล่าวว่าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาวิชาเยนชร์บรรดาศักดิ์ “ท้าวทองกีบม้า” ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับชาวพนักงานของหวาน ได้ประดิษฐ์คิดค้นขนมตระกูลทองเพราะมีไข่ผสมคือ ทองหยิบ ทองหยอด ทองพลุ ฝอยทอง ทองโปร่งเป็นต้น

ประวัติความเป็นมาของขนมไทย

12 ก.พ.

ประเทศไทยครั้งยังเป็นสยามประเทศได้ติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ เช่น จีน อินเดีย มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยส่งเสริมการขายสินค้าซึ่งกันและกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมด้านอาหารการกินร่วมไปด้วย ต่อมาในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวางไทยได้รับเอาวัฒนธรรมด้านอาหารของชาติต่างๆ มาดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น วัตถุดิบที่หาได้ เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนการบริโภคนิสัยแบบไทยๆ จนทำให้คนรุ่นหลังๆ แยกไม่ออกว่าอะไรคือขนมที่เป็นไทยแท้ๆ และอะไรดัดแปลงมาจากวัฒนธรรมของชาติอื่น เช่น ขนมที่ใช้ไข่และขนมที่ต้องเข้าเตาอบ ซึ่งเข้ามาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากคุณท้าวทองกีบม้าภรรยาเชื้อชาติญี่ปุ่น สัญชาติโปรตุเกสของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ผู้เป็นกงศุลประจำประเทศไทยในสมัยนั้น ไทยมิใช่เพียงรับทองหยิบ ทองหยอด และฝอยทองมาเท่านั้น หากยังให้ความสำคัญกับขนมเหล่านี้โดยใช้เป็นขนมมงคลอีกด้วย ส่วนใหญ่ตำรับขนมที่ใส่ไข่มักเป็น “ของเทศ” เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ทองหยอดจากโปรตุเกส มัสกอดจากสกอตต์

ขนมไทยในวิถีไทย

12 ก.พ.

ขนมไทยหัตถกรรมความอร่อยที่แสดงออกถึงความอ่อนช้อยของความเป็นไทย ตั้งแต่ครั้งอดีตกาลที่ก่อกำเนิดภูมิปัญญาไทยหลากหลายอย่างให้สืบสานต่อทั้งวิถีชีวิตประเพณี วัฒนธรรม ที่สามารถนำวัสดุมีอยู่ในท้องถิ่นมาปรุงแต่งเป็นของหวานได้มากหลายรูปแบบ จัดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าคนไทยมีลักษณะนิสัยอย่างไร เพราะขนมแต่ละชนิดล้วน มีเสน่ห์ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อน ประณีต วิจิตรบรรจงในรูปลักษณ์ ตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ วิธีการทำที่กลมกลืน ความพิถีพิถัน สีที่ให้ความสวยงาม มีกลิ่นหอม รสชาติของขนมที่ละเมียดละไมชวนให้รับประทาน แสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนใจเย็น รักสงบ มีฝีมือเชิงศิลปะ

วิถีชีวิตของคนไทยนั้นเป็นสังคมเกษตรที่มีผลิตผลทางธรรมชาติอยู่มากมาย เช่น กล้วย อ้อย มะม่วง รวมไปถึงข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ฯลฯ ที่สามารถปรุงเป็น ขนม ได้มากมายหลายชนิด เช่น อยากได้ กะทิ ก็เก็บมะพร้าวมาขูดคั้นน้ำกะทิ อยากได้ แป้งก็นำข้าวมาโม่เป็นแป้งทำขนมอร่อยๆ เช่น บัวลอย กินกันเองในครอบครัว

ขนมไทยถูกนำไปใช้ในงานบุญตามประเพณีและงานพิธีกรรม ที่เกี่ยวข้องในวิถีชีวิตชาวไทย โดยนิยมทำขนมชื่อมีมงคล ได้แก่ ขนมตระกูลทองทั้งหลาย เพราะคนไทยถือว่า “ทอง” เป็น ของดีมีมงคลทำแล้วได้มีบุญกุศล มีเงินมีทอง มีลาภยศ สรรเสริญ สมชื่อขนมนั่นเอง

การแบ่งประเภทของขนมไทย

12 ก.พ.

แบ่งตามวิธีการทำให้สุกได้ดังนี้

– ขนมที่ทำให้สุกด้วยการกวน ส่วนมากใช้กระทะทอง กวนตั้งแต่เป็นน้ำเหลวใสจนงวด แล้วเทใส่พิมพ์หรือถาดเมื่อเย็นจึงตัดเป็นชิ้น เช่น ตะโก้ ขนมลืมกลืน ขนมเปียกปูน ขนมศิลาอ่อน และผลไม้กวนต่างๆ รวมถึง ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว และกะละแม

– ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่ง ใช้ลังถึง บางชนิดเทส่วนผสมใส่ถ้วยตะไลแล้วนึ่ง บางชนิดใส่ถาดหรือพิมพ์ บางชนิดห่อด้วยใบตองหรือใบมะพร้าว เช่น ช่อม่วง ขนมชั้น ข้าวต้มผัด สาลี่อ่อน สังขยา ขนมกล้วยขนมตาล ขนมใส่ไส้ ขนมเทียน ขนมน้ำดอกไม้ 

– ขนมที่ทำให้สุกด้วยการเชื่อม เป็นการใส่ส่วนผสมลงในน้ำเชื่อมที่กำลังเดือดจนสุก ได้แก่ ทองหยอด ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน กล้วยเชื่อม จาวตาลเชื่อม

– ขนมที่ทำให้สุกด้วยการทอด เป็นการใส่ส่วนผสมลงในกระทะที่มีน้ำมันร้อนๆ จนสุก เช่น กล้วยทอด ข้าวเม่าทอด ขนมกง ขนมค้างคาว ขนมฝักบัว ขนมนางเล็ด

– ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่งหรืออบ ได้แก่ ขนมหม้อแกง ขนมหน้านวล ขนมกลีบลำดวน ขนมทองม้วน สาลี่แข็ง ขนมจ่ามงกุฎ นอกจากนี้ อาจรวม ขนมครก ขนมเบื้อง ขนมดอกลำเจียกที่ใช้ความร้อนบนเตาไว้ในกลุ่มนี้ด้วย

– ขนมที่ทำให้สุกด้วยการต้ม ขนมประเภทนี้จะใช้หม้อหรือกระทะต้มน้ำให้เดือด ใส่ขนมลงไปจนสุกแล้วตักขึ้น นำมาคลุกหรือโรยมะพร้าว ได้แก่ ขนมถั่วแปบ ขนมต้ม ขนมเหนียว ขนมเรไร นอกจากนี้ยังรวมขนมประเภทน้ำ ที่นิยมนำมาต้มกับกะทิ หรือใส่แป้งผสมเป็นขนมเปียก และขนมที่กินกับน้ำเชื่อมและน้ำกะทิ เช่น กล้วยบวชชี มันแกงบวด สาคูเปียก ลอดช่อง ซ่าหริ่ม

วัตถุดิบในการปรุงขนมไทย

12 ก.พ.

ขนมไทยส่วนใหญ่ทำมาจากข้าวและจะใช้ส่วนประกอบอื่นๆ เช่น สี ภาชนะ กลิ่นหอมจากธรรมชาติ ข้าวที่ใช้ในขนมไทยมีทั้งใช้ในรูปข้าวทั้งเม็ดและข้าวที่อยู่ในรูปแป้ง นอกจากนั้นยังมีวัตถุดิบอื่นๆ เช่น มะพร้าว ไข่ น้ำตาล ซึ่งจะกว่างถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้
ข้าวและแป้ง
     การนำข้าวมาทำขนมของคนไทยเริ่มตั้งแต่ข้าวไม่แก่จัด ข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนม นำมาทำข้าวยาคู พอแก่ขึ้นอีกแต่เปลือกยังเป็นสีเขียวนำมาทำข้าวเม่า ข้าวเม่าที่ได้นำไปทำขนมได้อีกหลายชนิด เช่น ข้าวเม่าคลุก ข้าวเม่าบด ข้าวเม่าหมี่ กระยาสารท ข้าวเจ้าที่เหลือจากการรับประทาน นำไปทำขนมไข่มด ขนมไข่จิ้งหรีด ข้าวตูได้อีก ส่วนแป้งที่ใช้ทำขนมไทยส่วนใหญ่ได้มาจากข้าวคือแป้งข้าวเจ้าและแป้งข้าวเหนียว ในสมัยก่อนใช้แป้งสดคือแป้งที่ได้จากการนำเม็ดข้าวแช่น้ำแล้วโม่ให้ละเอียด ในปัจจุบันใช้แป้งแห้งที่ผลิตจากโรงงาน นอกจากนี้ แป้งที่ใช้ได้แก่ แป้งถั่ว แป้งเท้ายายม่อม แป้งมันสำปะหลัง ส่วนแป้งสาลีมีใช้น้อย มักใช้ในขนมที่ได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ

มะพร้าวและกะทิ
     มะพร้าวนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของขนมไทยได้ตั้งแต่มะพร้าวอ่อนจนถึงมะพร้าวแก่ดังนี้ 
– มะพร้าวอ่อน ใช้เนื้อผสมในขนม เช่น เปียกสาคู วุ้นมะพร้าว สังขยามะพร้าวอ่อน
– มะพร้าวทึนทึก ใช้ขูดฝอยทำเป็นไส้กระฉีก ใช้คลุกกับข้าวต้มมัดเป็นข้าวต้มหัวหงอก และใช้เป็นมะพร้าวขูดโรยหน้าขนมหลายชนิด เช่น ขนมเปียกปูน ขนมขี้หนู ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของขนมไทย
– มะพร้าวแก่ นำมาคั้นเป็นกะทิก่อนใส่ในขนม นำไปทำขนมได้หลายแบบ เช่น ต้มผสมกับส่วนผสม เช่นกล้วยบวชชี แกงบวดต่างๆ หรือตักหัวกะทิราดบนขนม เช่น สาคูเปียก ซ่าหริ่ม บัวลอย

น้ำตาล
     แต่เดิมนั้นน้ำตาลที่นำมาใช้ทำขนมคือน้ำตาลจากตาลหรือมะพร้าว ในบางท้องที่ใช้น้ำตาลอ้อย น้ำตาลทรายถูกนำมาใช้ภายหลัง

ไข่
     เริมเป็นส่วนผสมของขนมไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชซึ่งได้รับอิทธิพลจากขนมของโปรตุเกส ไข่ที่ใช้ทำขนมนี้จะตีให้ขึ้นฟู ก่อนนำไปผสม ขนมบางชนิดเช่น ต้องแยกไข่ขาวและไข่แดงออกจากกัน แล้วใช้แต่ไข่แดงไปทำขนม

ถั่วและงา
     ถั่วและงาจัดเป็นส่วนผสมที่สำคัญในขนมไทย การใช้ถั่วเขียวนึ่งละเอียดมาทำขนมพบไดตั้งแต่สมัยอยุธยา เช่นขนมภิมถั่วทำด้วยถั่วเหลืองหรือถั่วเขียวกวนมาอัดใส่พิมพ์ ถั่วและงาที่นิยมใช้ในขนมไทยมีดังนี้ 
– ถั่วเขียวเราะเปลือก มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ถั่วทอง ถั่วซีก ถั่วเขียวที่ใช้ต้องล้างและแช่น้ำค้างคืนก่อนเอาไปนึ่ง
– ถั่วดำ ใช้ใส่ในขนมไทยไม่กี่ชนิด และใส่ทั้งเม็ด เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวหลาม ถั่วดำต้มน้ำตาล ขนมถั่วดำ
– ถั่วลิสง ใช้น้อย ส่วนใหญ่ใช้โรยหน้าขนมผักกาดกวน ใส่ในขนมจ่ามงกุฎ ใส่ในรูปที่คั่วสุกแล้ว
– งาขาวและงาดำ ใส่เป็นส่วนผสมสำคัญในขนมบางชนิดเช่น ขนมเทียนสลัดงา ขนมแดกง

กล้วย
     กล้วยมีส่วนเกี่ยวข้องกับขนมไทยหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ขนมกล้วย กล้วยกวน กล้วยเชื่อม กล้วยแขกทอด หรือใช้กล้วยเป็นไส้ เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวเหนียวปิ้งไส้กล้วย ข้าวเม่า กล้วยที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยแต่ละชนิดเมื่อนำมาทำขนมบางครั้งจะให้สีต่างกัน เช่น กล้วยน้ำว้าเมื่อนำไปเชื่อมให้สีแดง กล้วยไข่ให้สีเหลือง เป็นต้น

สี
     สีที่ได้จากธรรมชาติและใช้ในขนมไทย มีดังนี้ 
– สีเขียว ได้จากใบเตยโขลกละเอียด คั้นเอาแต่น้ำ
– สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน เด็ดกลีบดอกอัญชันแช่ในน้ำเดือด ถ้าบีบน้ำมะนาวลงไปเล็กน้อยจะ  ได้สีม่วง
– สีเหลืองจากขมิ้นหรือหญ้าฝรั่น
– สีแดงจากครั่ง
– สีดำจากกาบมะพร้าวเผาไฟ นำมาโขลกผสมน้ำแล้วกรอง

กลิ่นหอม
     กลิ่นหอมที่ใช้ในขนมไทยได้แก่ 
– กลิ่นน้ำลอยดอกมะลิ ใช้ดอกมะลิที่เก็บในตอนเช้า แช่ลงในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วให้ก้านจุ่มอยู่ในน้ำ ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืน รุ่งขึ้นจึงกรอง นำนำไปใช้ทำ   ขนม
– กลิ่นดอกกระดังงา นิยมใช้อบขนมแห้ง โดยเด็ดกลีบกระดังงามาลนเทียนอบให้หอม ใส่ขวดโหลที่ใส่ขนมไว้ ปิดฝาให้สนิท
– กลิ่นเทียนอบ จุดไฟที่ปลายเทียนอบทั้งสองข้างให้ลุกสักครู่หนึ่งแล้วดับไฟ วางลงในถ้วยตะไล ใส่ในขวดโหลที่ใส่ขนม ปิดผาให้สนิท
– กลิ่นใบเตย หั่นใบเตยที่ล้างสะอาดเป็นท่อนยาว ใส่ลงไปในขนม

ขนมไทยมงคล ๙ อย่าง

12 ก.พ.

ทองหยิบ
เป็นขนมมงคล ชนิดหนึ่ง มี ลักษณะ งดงามคล้าย ดอกไม้สีทอง ต้องใช้ความสามารถและ ความพิถีพิถัน เป็นอย่างมาก ใน การประดิษฐ์ประดอย จับกลีบให้มีความงดงามเหมือนกลีบดอกไม้ ชื่อ ขนมทองหยิบ เป็นชื่อ สิริมงคล เชื่อว่าหากนำไปใช้ประกอบ พิธีมงคลต่างๆ หรือให้เป็น ของขวัญแก่ใครแล้ว จะทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวย หยิบจับ การงาน สิ่งใดก็จะ ร่ำรวย มีเงินมีทอง สมดังชื่อ “ทองหยิบ”

ทองหยอด
   ใช้ประกอบใน พิธีมงคล ทั้งหลาย หรือมอบเป็นของขวัญในโอกาสสำคัญ ๆ แก่ผู้ใหญ่ที่เคารพรักหรือญาติสนิทมิตรสหาย แทน คำอวยพรให้ ร่ำรวยมีเงินมีทอง ใช้จ่ายอย่างไม่รู้หมดสิ้น ประดุจให้ ทองคำ แก่กัน

ฝอยทอง
    เป็น ขนม ใน ตระกูลทอง ที่มีลักษณะเป็น เส้น นิยมใช้กันในงานมงคลสมรส ถือเคล็ด กันว่าห้ามตัดขนมให้สั้นต้องปล่อยให้เป็น เส้นยาว ๆ เพื่อที่ คู่บ่าวสาวจะได้ครองชีวิตคู่ และรักกันได้อย่างยืนยาวตลอดไป

ขนมชั้น
   เป็นขนมไทยที่ถือเป็นขนมมงคล และจะต้องหยอดขนมชั้นให้ได้ 9 ชั้น เพราะคนไทยมีความเชื่อว่าเลข 9 เป็น เลขสิริมงคล หมายถึง ความเจริญก้าวหน้า และ ขนมชั้น ก็หมายถึงการได้เลื่อนชั้น เลื่อน ยศถาบรรดาศักดิ์ ให้สูงส่งยิ่งๆ ขึ้นไป

ขนมทองเอก 
   เป็นขนมในตระกูล ทอง อีกชนิดหนึ่งที่ต้องใช้ความ พิถีพิถันเป็นอย่างยิ่งในทุก ขั้นตอนการทำ มีลักษณะที่สง่างาม โดดเด่นกว่า ขนมตระกูลทอง ชนิดอื่น ๆ ตรงที่มีทองคำเปลวติดไว้ที่ด้านบนของขนม คำว่า “เอก” หมายความถึง การเป็นที่หนึ่ง การใช้ขนมทองเอกประกอบพิธีมงคลสำคัญต่างๆ หรือใช้มอบเป็นของขวัญในงานฉลองการเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่ง จึงเปรียบเสมือน คำอวยพร ให้เป็นที่หนึ่งด้วย

 ขนมเม็ดขนุน

     เป็นหนึ่งในขนมตระกูลทองเช่นกัน มีสีเหลืองทอง รูปร่างลักษณะคล้ายกับ เม็ดขนุน ข้างในมีไส้ทำด้วย ถั่วเขียวบด มีความเชื่อกันว่า ชื่อของ ขนมเม็ดขนุนจะเป็นสิริมงคล ช่วยให้มีคนสนับสนุน หนุนเนื่อง ในการดำเนินชีวิตและในหน้าที่การงานหรือ กิจการต่าง ๆ ที่ได้กระทำอยู่

ขนมจ่ามงกุฎ
    เป็นขนมที่ทำยากมีขั้นตอนในการทำสลับซับซ้อน นิยมทำกันเพื่อใช้ประกอบพิธีการที่สำคัญจริงๆ คำว่า “จ่ามงกุฎ” หมายถึง การเป็นหัวหน้าสูงสุดแสดงถึงความมีเกียรติยศสูงส่ง นิยมใช้เป็นของขวัญในงานเลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งถือเป็นการแสดงความยินดี และอวยพร ให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ขนมถ้วยฟู

 

ขนมถ้วยฟู
    ให้ความหมายอันเป็นสิริมงคล หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองเฟื่องฟูนิยมใช้ประกอบในพิธีมงคลต่าง ๆ ทุกงาน เคล็ดลับของการทำขนมถ้วยฟูให้มีกลิ่นหอม น่ารับประทานนั้น คือการใช้ น้ำดอกไม้ สดเป็น ส่วนผสม และการอบร่ำ ด้วยดอกมะลิสดในขั้นตอนสุดท้ายของการทำ

ขนมเสน่ห์จันทน์
  “จันทน์” เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง มีผลสุก สีเหลือง เปล่งปลั่งทั้งสวยงามและมีกลิ่นหอม ชวนให้หลงใหล คน โบราณ จึงนำความมีเสน่ห์ของ ผลจันทน์ มาประยุกต์ทำเป็น ขนม และได้นำ “ผลจันทน์ป่น” มาเป็นส่วนผสมทำให้มีกลิ่นหอมเหมือนผลจันทน์ ให้ชื่อว่า “ขนมเสน่ห์จันทน์” โดยเชื่อว่าคำว่า เสน่ห์จันทน์ เป็นคำที่มีสิริมงคล จะทำให้มีเสน่ห์คนรักคนหลงดังเสน่ห์ ของผลจันทน์ ขนมเสน่ห์จันทน์ จึงถูกนำมาใช้ประกอบในงานพิธีมงคลสมรส

วิธีทำขนมทองหยิบ

12 ก.พ.

…ขนมทองหยิบ….

 

ส่วนผสม
ไข่เป็ด 10 ฟอง
น้ำตาลทราย 3 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกไม้ 2 ถ้วยตวง
วิธีทำ
1.ผสมน้ำลอยดอกไม้ น้ำตาลทราย เคี่ยวให้เป็น้ำเชื่อม สำหรับหยอด
2.แยกไข่ขาวและไข่แดงใช้แต่ใข่แดงตีให้ขึ้นฟูจนไข่เปลี่ยนเป็นสีนวล
3.ตักไข่หยอดใส่ในน้ำเชื่อม ครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ให้ไข่เป็นแผ่น หยอดให้เต็มกระทะ รอให้ไข่สุก ตักแผ่นไข่ที่หยอดไว้ใส่ถาดใช้มือจับเป็นจีบ ตามต้องการ แล้วหยิบใส่ถ้วยตะไล รอให้เย็นแล้วจึงแคะออกจากถ้วยตะไล
หมายเหตุ
เวลาตักไข่หยอดลงในน้ำเชื่อม ต้องให้น้ำเชื่อมนิ่งเพื่อไข่ที่หยอดจะได้ไม่แตก ถ้าใช้ไข่ไก่ผสมด้วยเนื้อขนมจะนุ่มขึ้นแต่สีที่ได้จะอ่อนลง

วิธีทำขนมทองหยอด

12 ก.พ.

….ขนมทองหยอด….

 

ส่วนผสม
ไข่เป็ด 10 ฟอง
แป้งทองหยอด 1/4 ถ้วยตวง
น้ำตาลทราย 7 ถ้วยตวง
น้ำลอยดอกมะลิ 6 ถ้วยตวง
วิธีทำ
1. ผสมน้ำ น้ำตาลทราย ตั้งไฟให้เดือดพอเหนียว ตักน้ำเชื่อมขึ้นไว้สำหรับลอยทองหยอด ที่เหลือตั้งไฟต่อไปให้น้ำเชื่อมเหนียว
2. แยกไข่แดง ไข่ขาว
3. ตีไข่แดงให้ขึ้น ค่อยๆ ใส่แป้งทองหยอดแล้วคนให้เข้ากัน
4. หยอดไข่ที่ตีแล้วลงในน้ำเชื่อมที่ตั้งอยู่บนไฟ ใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางเป็นตัวกำหนด ต้องการลูกเล็กหรือใหญ่ตามชอบ นิ้วหัวแม่มือจะเป็นนิ้วที่ช่วยรูดแป้งลงที่ปลายนิ้ว แล้วจึงสะบัดไข่ลงในน้ำเชื่อม
5. เมื่อทองหยอดสุกลอยขึ้น ตักใส่ในน้ำเชื่อมสำหรับลอย

วิธีทำขนมฝอยทอง

12 ก.พ.

….ขนมฝอยทอง…. 

ส่วนผสม 
ไข่แดงเป็ด,ไข่แดงไก่, น้ำตาลทราย, ใบเตย, กลิ่นดอกมะลิ,เทียนอบขนม
วิธีทำ
1. น้ำตาลทราย น้ำ ตั้งไฟพอเดือดน้ำตาลละลาย
2. ยกลงกรองด้วยผ้าขาวบาง ตั้งไฟเคี่ยวต่อ
3. ให้น้ำเชื่อมมีลักษณะไม่ข้นหรือใสเกินไป เหมาะสำหรับโรยฝอยทอง
4. ตอกไข่ แยกไข่ขาวออกใช้แต่ไข่แดง และเก็บน้ำไข่ขาวที่ใสไม่เป็นลิ่ม เรียกน้ำค้างไข่
5. นำไข่แดงใส่ผ้าขาวบางรีดเยื่อไข่ออก ผสมไข่แดงกับน้ำค้างไข่ตามส่วน คนให้เข้ากัน
6. เตรียมกระทะทองใส่น้ำเชื่อมเดือด ๆ ไว้ ทำกรวยด้วยใบตอง หรือใช้กรวยโลหะใส่
7.ไข่แดงโรยในน้ำเชื่อมเดือด ๆ ไปรอบ ๆ ประมาณ 20-30 รอบ เส้นไข่สุกใช้ไม้แหลม
8. สอยขึ้นจากน้ำเชื่อม พับเป็นแพ อบด้วยควันเทียนหลังจากเย็นแล้ว

วิธีทำขนมชั้น

12 ก.พ.

….ขนมชั้น….

ส่วนผสม
หัวกะทิ 4 ถ้วย
น้ำตาลทราย 3 ถ้วย
น้ำลอยดอกมะลิ 1 ถ้วย
แป้งถั่วเขียว 2 ช้อนโต๊ะ
แป้งท้าวยายม่อม 1 ถ้วย
แป้งข้าวเจ้า 2 ช้อนโต๊ะ
แป้งมัน 2 ถ้วย
ใบเตย 10 ใบ คั้นน้ำข้น ๆ
วิธีทำ
1. เชื่อมน้ำเชื่อมโดยใช้น้ำ 1 ถ้วย น้ำตาลทราย 3 ถ้วย
2. ผสมแป้งทั้ง 4 ชนิด เข้าด้วยกัน แล้วนวดกับกะทิ โดยค่อย ๆ ใส่กะทิทีละน้อย ๆ นวดนาน ๆ จนกะทิหมด แล้วใส่น้ำเชื่อมคนให้เข้ากัน พอให้แป้งติดหลังมือนิดหน่อย
3. กรองแป้งทั้งหมด แล้วแบ่งแป้งครึ่งหนึ่งเป็นสีขาว อีกครึ่งหนึ่งใส่ใบเตยหรือสีตามชอบ
4. นำถาดไปนึ่งแล้วทาน้ำมันให้ทั่ว ใส่แป้งสีขาวประมาณ 1/2 ถ้วย แล้วนึ่งให้สุกประมาณ 5 นาที ชั้นที่ 2 ใส่สีเขียว แล้วนึ่งอีกประมาณ 5 นาที ทำเช่นนี้ไปจนหมดแป้ง แล้วให้ชั้นสุดท้ายเป็นสีเข้มกว่าชั้นอื่น ๆ เมื่อสุกยกลงทิ้งให้เย็น แล้วตัดเป็นชิ้นตามต้องการ